Sunday, April 11, 2010

"พ.อ.ร่มเกล้า"เหยื่อ คนเถื่อน ถูกสั่งตายหรืออุบัติเหตุ!

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม 11 เมษายน 2553 14:33 น.

พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ. ค่ายจักรพงษ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี จากกองกำลังบูรพา ที่เสียชีวิต ในเหตุการณ์ปะทะระหว่างกำลังทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อคืน(10 เม.ย.) ที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า พ.อ.ร่มเกล้า นายทหารกล้าผู้นี้ ถูกคนเถื่อนชี้เป้าให้ยิง หรือ ถูกลูกหลงจากกระสุนจริงของคนเถื่อน

พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 (ตท.25) นักเรียนนายร้อยจปร.รุ่น 36 เพื่อนๆเรียกชื่อเล่นกันว่า"เปา"ก่อนมาดำรงตำแหน่งที่ พล.ร.2 รอ. เป็นผบ.ฉก.35 (ยศ พ.ท.) ดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ในพื้นที่ อ.สุคิริน และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นเวลากว่า 6 เดือน โดยปฏิบัติการเดินเท้า เข้าทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พ.อ.ร่มเกล้า บอกถึงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนั้นว่า ตั้งแต่ลงพื้นที่ 6 เดือน กระสุนไม่เคยออกจากกระบอกแม้แต่นัดเดียว

"การแก้ไขปัญหามี 2 อันดับ คืออันดับแรกแก้ที่ปลายเหตุ หมายความว่าให้คนไทยพุทธป้องกันการละทิ้งถิ่นฐาน และทำให้พี่น้องมุสลิมกลาง ให้ความร่วมมือกับรัฐ ส่วนอันดับสอง คือการแก้ที่สาเหตุ เป็นการแก้ไขในระยะยาว ที่ต้องทำให้คนในพื้นที่เกิดความรู้สึกต่อต้านกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ผมเข้าไปในพื้นที่ ใช้วิธีเข้าไปคุยกับทุกหลังคาเรือน หากเรารู้ว่าคนนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง แต่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ เราจะเข้าไปคุยกับเขาบ่อยๆ ซึ่งสามารถทำให้ลดการเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้เนื่องจาก เมื่อเราเข้าไปพูดคุยเป็นมิตรกับเขาบ่อยๆ เขาจะเกรงใจ เราจะหยุดการฆ่าด้วยการฆ่าไม่ได้"

"ผมเดินเข้าไปบอกถึงความเป็นคนไทยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมเดินเข้าไปบอกชาวบ้านว่า ผมเป็นจีน มาจากซัวเถา เพราะแม่ผมเป็นคนจีน คุณมาจากไหนไม่รู้ พูดภาษายาวี แต่เราเป็นคนไทยด้วยกัน เขาก็งง แล้วถามผมว่าแล้วคนไทยคืออะไร ผมก็บอกไปว่าก็พวกเราทั้งหมดคือคนไทย บางทีผมยังต้องเอาประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวร ลงไปบอกกับพี่น้องในพื้นที่ว่า นักรบจนถึงชนชั้นขุนนางในอดีตก็มีคนมุสลิม เราร่วมรบกันมา อยู่ร่วมกันมานานแล้ว ปลุกความรักชาติให้เขา" ทั้งหมดเป็นแนวความคิดและแนวปฏิบัติของ พ.อ.ร่มเกล้า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก.35 ในพื้นที่ อ.สุคิริน และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส

หลังเข้าดำรงตำแหน่งรอง เสธ.พล.ร.2 รอ. แล้ว ได้ปฏิบัติภาระกิจสำคัญ คือการเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อช่วงเมษาเลือดปี 2552 โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่ภายหลัง ฝ่ายตรงข้ามพยายามปลุกปั่นประชาชนว่า ทหารฆ่าประชาชน ทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า ต้องเดินสาย นำวิดีโอบันทึกภาพเคลื่อนไหว ที่เป็นทั้งการเคลื่อนกำลังพล การตั้งเป็นแนวกั้น ฉายเพาเวอร์พอยต์ อธิบายการทำงานของทหารถึงการสลายชุมนุม ที่มีการเจรจากับผู้ชุมนุม ทั้งจากทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของ กทม. รวมถึงชาวบ้านย่านแฟลตดินแดง โดยย้ำว่า การทำงานของทหารเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกประการ ซึ่งการเดินสายอธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาได้รับฉายาจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแขว่า เป็น"เสธ.เพาเวอร์พอยต์"

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตุว่า...พ.อ.ร่มเกล้า คือนายทหารที่เคยเป็นผู้แทนของกองทัพบก เข้าให้ข้อมูลเรื่องการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสามเหลี่ยม ดินแดง เมื่อเดือนเมษายน 2552 ต่อคณะอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์บริเวณแยกดินแดง ซึ่งเป็น อนุกรรมการฯที่อยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมของ รัฐสภา ที่มีการแต่งตั้งให้ วุฒิสภา เป็นประธานตรวจสอบในแต่ละ คณะอนุกรรมการ

การเข้าชี้แจงของ พ.อ.ร่มเกล้า ในวันนั้น พ.อ.ร่มเกล้า ถือเป็นทหารที่ได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่า การปฎิบัติการในเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ไม่มีพวกแดงเทียม ในการออกมาปฎิบัติการ ตามที่กลุ่มคนเสื้อแดง พูดเพื่อให้พวกตนพ้นผิด พร้อมกับยืนยันว่า กลุ่มมือที่สาม ไม่มีเด็ดขาด แต่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ที่แยกกันทำงาน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน

ที่สำคัญ พ.อ.ร่มเกล้า ยังสามารถแสดงพยานหลักฐานต่างๆประกอบการชี้แจง มีน้ำหนักเพียงพอ ทำให้ อนุกรรมการฯเชื่อว่าการปฎิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมของทหารในวันนั้น ได้ทำอย่างถูกต้องตามหลักสากล ทำให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว และร่วมรับฟังการชี้แจงในวันนั้น ถึงกับแสดงอาการไม่พอใจการชี้แจงของ พ.อ.ร่มเกล้า เป็นอย่างยิ่ง

จากความไม่พอใจการชี้แจง ทั้งนายวรวัจน์ และนายชลน่าน ได้พูดด้วยถ้อยคำในทำนองไม่ให้เกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นทหารของ พ.อ.ร่มเกล้า โดยเฉพาะ นายชลน่าน พูดออกมาว่า"คุณไม่เหมาะที่จะเป็นทหารแล้ว"ทำให้อนุกรรมการ ที่เข้าร่วมรับฟังในวันนั้น ถึงกับรู้สึกแปลกใจ และก็ได้รับรู้กันโดยทั่วไปของบุคคลที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น

นอกจากนั้นในการเข้าให้ข้อเท็จจริงในวันดังกล่าว นายวรวัจน์ พยายามที่จะสอบถามถึงผู้สั่งการที่แท้จริง โดยตำหนิฝ่ายทหารว่าไม่ควรโบ้ยไปกันไปมา ทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า กล่าวตอบด้วยน้ำเสียงขึงขังว่า "ผมพูดตรงๆ ไม่เคยโบ้ยใคร ผมเป็นทหารไม่ใช่นักการเมือง"

อย่างไรก็ตาม การเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณสามเหลี่ยมดิน แดง ไม่ใช่เฉพาะ พ.อ.ร่มเกล้า แต่ยังมีลูกน้องของ พ.อ.ร่มเกล้า ได้เข้าชี้แจงในเวลาต่อมา โดยส่วนใหญ่ ยืนยันเหมือนกับ พ.อ.ร่มเกล้า ว่าการปฎิบัติงานของทหารได้ทำถูกต้องตามขั้นตอน ตามหลักสากล ดังนั้น จึงทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้ง 2 ผูกใจเจ็บว่า คณะทหารที่เข้าชี้แจง คือฝ่ายตรงข้ามของคนเสื้อแดง

จากแผนปฎิบัติการทั้งบนดินและใต้ดินของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เมษายน 2552 กับแผนปฎิบัติการณ์ในเดือนเมษายน 2553 เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ แผนปฎิบัติการณ์ในครั้งนี้ กลับเข้มข้นขึ้น ดังนั้น พ.อ.ร่มเกล้า ถูกยิงบริเวณศีรษะจนเสียชีวิต โดย พ.อ.พีระพล ปกป้อง ผอ.กองอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ระบุว่า มีทหาร 2 นาย เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ. ค่ายจักรพงษ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะและลำตัวลักษณะถูกยิงหลายนัด ส่วนทหารอีก 1 นายที่เสียชีวิต คือ พลทหารสิงหา อ่อนทรง มีบาดแผลถูกยิงบริเวณอกซ้าย 1 นัด นอกจากนั้น ยังมีทหารได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 20 นาย ในจำนวนนี้ รวมทั้ง พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ. มีบาดแผลถูกยิงบริเวณขาซ้ายด้วย

แม้วันนี้ จะยังไม่มีการยืนยันการเสียชีวิตที่แท้จริงก็ตามที แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่แผนขั้นแตกหักครั้งนี้ จะเป็นการชี้เป้าให้ยิง อีกทั้งที่น่าสังเกตุ ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.อ.ร่มเกล้า และเขาก็คือทหารที่เข้าชี้แจงต่ออนุกรรมการดังกล่าว

การสูญเสีย พ.อ.ร่มเกล้า ทหารกล้าในครั้งนี้ รัฐบาล และ ผู้เกี่ยวข้อง จะต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่า ตายเพราะอุบัติเหตุจากการสลายการชุมนุม หรือ ตายเพราะเป็นการชี้เป้าให้ยิงของกลุ่มคนร้าย เพราะในอดีตหลักฐานการชี้แจงของ พ.อ.ร่มเกล้า ได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หากรัฐบาลไปขอคำบันทึกในครั้งนั้น มาประกอบการพิสูจน์ทราบการตายของ พ.อ.ร่มเกล้า ก็น่าจะมีประโยชน์ หรือ อาจจะนำไปสู่ การจับกุมคนสั่งตายในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ทหาร พล.ร.2 รอ. ค่ายจักรพงษ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เชื่อว่า การเสียชีวิตของพ.อ.ร่มเกล้า ในครั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.2552 ที่พวกเขาเชื่อว่า พรรคพวกของพวกเขาล้มหายตายจากไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการพุ่งเป้าและหมายหัว"ผู้พันเปา" กับทหารจาก จ.ปราจีนบุรีเป็นพิเศษ จนกระทั่งกองทัพต้องสูญเสียพ.อ.ร่มเกล้า ไป ส่วนจะเป็นการ"ชี้เป้า"ให้เก็บพ.อ.ร่มเกล้าหรือไม่นั้น พยานหลักฐานและเวลาในอนาคตจะเป็นเครื่องพิสูจน์