Wednesday, April 7, 2010

รายละเอียดคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศที่เกี่ยวข้อง

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

      
       โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ และเพื่อให้มีการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นโดยทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เสียหาย และเกรงกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งมีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อให้กระทำการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ
      
       นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน
      
       จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะมีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหาย หรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมาย
      
       กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว
      
       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
      
       นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
      
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      
       

       ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2553
      
       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
       นายกรัฐมนตรี
      
       ประกาศ
       ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

      
       ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้ว นั้น
      
       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
      
       ข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการ ใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง และต้องปฏิบัติตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
      
       ข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยว เนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
      
       ข้อ 3 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
      
       ข้อ 4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
      
       ข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยอนุโลม
      
       ข้อ 6 ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
      
       ข้อ 7 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือน ต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
      
       ข้อ 8 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
      
       ข้อ 9 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการ ร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบกำหนด
      
       ข้อ 10 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ห้ามกระทำการอย่างใด ๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคมหรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตาม ปกติในทุกเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
      
       ข้อ 11 ให้ข้าราชการทหาร ตามที่กำหนดในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
      
       ข้อ 12 ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้ใช้มาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกิน สมควรแก่เหตุ
      
       ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการใช้ อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ตามที่เห็นสมควร
      
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      
       

       ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
      
       (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
       นายกรัฐมนตรี
      
       คำสั่งนายกรัฐมนตรี
       ที่ พิเศษ 2/2553
       เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไข
       สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

      
       ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้ว นั้น
      
       อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรคสาม และวรรคหก และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
      
       ข้อ 1 ให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
      
       ข้อ 2 ให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
      
       ข้อ 3 ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบตามข้อ 2 มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในพระราช กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
       (1) บังคับบัญชาและสั่งการส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
       (2) ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้กำกับการปฏิบัติงานมอบหมาย
      
       ข้อ 4 ให้ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราช กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
       ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดดังกล่าว และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรี
       การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายกำหนด
      
       ข้อ 5 ให้ผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
      
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      
       

       สั่ง ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
      
       (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
       นายกรัฐมนตรี
      
       คำสั่งนายกรัฐมนตรี
       ที่ พิเศษ 1/2553
       เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

      
       ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอินอำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้ว นั้น
      
       เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรคสาม วรรคห้า และวรรคหก มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้
      
       ข้อ 1 ให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา 7 วรรคห้า แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีผู้ปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
       1.1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ
       1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองผู้อำนวยการ
       1.3 ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (1)
       1.4 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (2)
       1.5 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (3)
       1.5 ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (4)
       1.6 ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (5)
       1.7 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (6)
       1.8 ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
       1.9 ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
       1.10 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
       1.11 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรรมการ
       1.12 ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรรมการ
       1.13 ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
       1.14 อัยการสูงสุด กรรมการ
       1.15 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
       1.16 ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรรมการ
       1.17 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กรรมการ
       1.18 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
       1.19 อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการ
       1.20 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการ
       1.21 เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรรมการ
       1.22 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรรมการ
       1.23 ผู้ช่วยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรรมการ
       1.24 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (1) กรรมการ
       1.25 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (2) กรรมการ
       1.26 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
       1.27 เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
      
       1.28 ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
      
       ข้อ 2 ให้ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุก เฉิน พ.ศ. 2548 โดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉิน
      
       ข้อ 3 ให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
      
       3.1 ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประกาศของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง
      
       3.2 จัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ และจัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการได้ตามที่เห็นสมควร
      
       3.3 ดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่ สงบและที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
      
       3.4 ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล ประชาชน และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง
      
       3.5 จัดกำลังตำรวจ ทหาร และพลเรือนดำเนินการตามแผนรักษา ความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่นั้น ๆ ดำเนินการป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก
      
       3.6 จัดชุดปฏิบัติการจากตำรวจ ทหาร และฝ่ายพลเรือนเข้าระงับการก่อความไม่สงบและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
      
       3.7 มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
      
       3.8 เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสาร หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร
      
       3.9 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ตามความจำเป็น
      
       3.10 ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
      
       ข้อ 4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่การใช้อำนาจสอบสวนต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
      
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      
       

       สั่ง ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
      
       (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
       นายกรัฐมนตรี
      
       
       ข้อกำหนด
       ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

      
       ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้ว นั้น
      
       เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
       แห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
      
       1. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
      
       2. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในทั่วราชอาณาจักร
      
       3. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
      
       4. ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
      
       5. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
      
       ในการนี้ หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่ เหตุก็ได้
      
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      
       

       ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
      
       (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
       นายกรัฐมนตรี
      
       ประกาศ
       เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

      
       ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้ว นั้น
      
       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคสอง และวรรคหก แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มี การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังต่อไปนี้
      
       1. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
       2. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
       3. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
       4. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
       5. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
       6. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493
       7. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
       8. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
       9. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
       10. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
       11. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
       12. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
       13. พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
       14. พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498
       15. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
       16. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม
       17. ประมวลกฎหมายอาญา
       18. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้ อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
      
       ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย
      
       ให้ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้รับมอบหมาย จากนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 วรรคหก ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรี และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็น อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม ให้ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อ เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
      
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
      
      

       ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553
      
       (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
       นายกรัฐมนตรี