Saturday, March 27, 2010

ปิด ฉากทวงคืน ปตท.เหมือนแพ้แต่ชนะ รสนา หาช่องลุยฟ้องศาลแพ่ง



Anti-Corruption Center : คำพิพากษาประวัติศาสตร์ของศาลปกครองสูงสุดที่แม้ไม่สั่งเพิกถอน ปตท.ออกจากตลาดหุ้น แต่ก็มีประกาศิตให้ ปตท.โอนสินทรัพย์ของหลวง คือ ที่ดิน ท่อส่งก๊าซ และท่อส่งน้ำมัน กลับคืนกระทรวงการคลัง ทำให้ไม่อาจด่วนสรุปได้ว่ายุทธการทวงคืน ปตท.ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคครั้งนี้แพ้หรือชนะ

จับกระแสความ รู้สึกผู้คนส่วนหนึ่งเห็นว่า ปตท.ชนะ เพราะเสียทรัพย์ที่ไม่พึงได้ไปส่วนหนึ่งเท่านั้น

บ้างก็ว่างานนี้ปิด ฉากแบบ Win-Win หรือบัวไม่ช้ำ...น้ำไม่ขุ่น !!

สารี อ๋องสมหวัง และรสนา โตสิตระกูล แกนนำขบวนการทวงคืน ปตท.แต่ สายสืบภาค ประชาชน เห็นว่างานนี้ "เหมือนแพ้แต่ชนะ" กล่าวให้ชัดก็คือ "ประชาชนเหมือนแพ้แต่ชนะ"

เหตุ ที่ว่าประชาชนเหมือนแพ้ก็เพราะ...ไม่สามารถทวงคืนสินทรัพย์ของ ปตท.ซึ่งเป็นสมบัติของชาติกลับมาได้ทั้งหมด ส่วนที่ว่าชนะก็เพราะ...สามารถทวงคืนอสังหาริมทรัพย์กลับคืนมาเป็น ของรัฐได้ แต่ว่าจะมีมูลค่าเป็นเม็ดเงินเพียง 1 แสนล้านบาทตามการคำนวณของผู้บริหาร ปตท.หรือไม่ ? คงไม่ใช่เรื่องยากนักในการตรวจสอบของ สตง.

แต่หัวใจสำคัญของประเด็น ที่ว่า "ประชาชนเหมือนแพ้แต่ชนะ" ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในการเห็นควรไม่สั่งเพิกถอน ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ความว่า...

"...ศาล ปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ได้มีการเปลี่ยนสภาพ ปตท.ไปเป็น บมจ.ปตท.และได้นำหุ้นของ บมจ.ปตท.เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2544 หากมีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อให้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ กลับไปเป็นของ ปตท.ดังเดิม ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดทุนรวมถึงตลาดเงิน และบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับ บมจ.ปตท. ทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายตามมาอีกนานับปการด้วย..."

อัน เป็นข้อเท็จจริงแห่งดุลพินิจที่ชวนให้เข้าใจได้ว่า แม้มีเหตุผลเพียงพอในการทวงคืน ปตท.แต่ศาลก็ไม่สามารถตอบสนองคำร้องของกลุ่มผู้ฟ้องคดีได้ เนื่องจากเกรงจะเกิดผลกระทบในวงกว้างทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย

อัน เป็นการสะท้อนถึงดุลพินิจในการใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์ และเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงอิทธิพลแห่งมายาคติของตลาดทุนและตลาดเงินใน ประเทศไทยอย่างแท้จริง

ส่วนการจะบรรลุเป้าหมายแห่งความ "เหมือน แพ้แต่ชนะ" อีกขั้นหนึ่งนั้น วิญญูชนผู้ยึดมั่นในหลักนิติธรรมคงต้องเป็นกำลังใจและให้การสนับสนุน คุณ รสนา โตสิตระกูล กับพวกที่มีข่าวว่าจะศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างละเอียดเพื่อหา ช่องทางในการฟ้องทางแพ่งต่อกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในการแปรรูป ปตท.จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนอย่างยากที่จะประเมินค่า

ด้วย จิตคารวะนักสู้ของประชาชน

สายสืบภาคประชาชน (14 ธันวาคม 2550)

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

ศาลฯ สั่งไม่เพิกถอนหุ้น ปตท.จากตลาด ส่วนที่ดิน-ท่อก๊าซ-ท่อน้ำมัน โอนคืนแผ่นดิน

ศาลปกครอง มีคำพิพากษา ไม่เพิกถอนหุ้น ปตท.จากตลาดหลักทรัพย์ ส่วนที่ดิน-ท่อกาซ-ท่อน้ำมัน ให้โอนคืนรัฐบาล เพราะเป็นทรัพย์สินแผ่นดิน พร้อมยกฟ้อง "ปิยสวัสดิ์" กรณีการแปรรูปถูกต้องตามกฎหมาย

การตัดสินคดีบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เช้าวันนี้(14 ธ.ค.) ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาไม่เพิกถอนหุ้น PTT ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและประชาชนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ท่อส่งก๊าซ และท่องส่งน้ำมัน กลับคืนให้กับรัฐบาล

คดีนี้ มูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่าย นำโดย นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เลขาธิการมูลนิธิ ฯ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิฯ และองค์กรเครือข่ายประกอบด้วย น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ฯลฯ ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2549

โดยให้ เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับเกี่ยวกับการแปรรูป ปตท. ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และ พระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 เนื่องจากไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ขั้นตอนการดำเนินการขัดแย้งกับกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นไม่รอบด้าน ซึ่งศาลฯ มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้ในสารบบ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2549 และศาลปกครองสูงสุด กำหนดวันพิพากษาคดีในวันที่ 14 ธ.ค. 2550

ศาล ปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 2 ชั่วโมง สรุปได้ว่า ไม่เพิกถอนกฎหมายแปรรูป ปตท. ทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากเกรงจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงทำให้ PTT มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดต่อไป แต่ให้แก้ไขประเด็นต่าง ๆ ที่ขัดต่อข้อกฎหมาย โดยเฉพาะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเวนคืน และท่อส่งก๊าซ-น้ำมัน กลับคืนไปให้กับกระทรวงการคลัง เพราะถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

นอกจากนี้ ศาลยังให้ยกฟ้องในบางประเด็น อาทิ คุณสมบัติของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กับนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นข้าราชการคุณวุฒิ จึงสามารถเป็นคณะกรรมการจัดตั้งบริษัท ปตท.ได้

ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีการถือหุ้นของนายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนสถานะของ ปตท.

และประเด็นที่ 3 กรณีการจัดตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คำพิพากษาคดีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.ที่ออกมาว่าไม่ถอดถอนบริษัทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นเรื่องปกติ โดยต้องดูต่อไปว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ ปตท.คืนทรัพย์สินให้แก่รัฐจะมีมูลค่ามากเท่าไร และจะส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรของบริษัทมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากทำให้รายได้ลดลงมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ ปตท.ได้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 ธันวาคม 2550 13:05 น.
ที่ มา : http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9500000148230

ข้อมูลเกี่ยวเนื่อง

ดาวน์โหลดสรุปข่าว "คดีทวงคืน ปตท."
http://www.admincourt.go.th/attach/news_attach/2007/12/press14122550.pdf
ดาวน์โหลดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด "คดีทวงคืน ปตท."
http://www.admincourt.go.th/50/s50-0035-js01.pdf

หรือเข้าหน้าหลักเว็บไซต์ศาลปกครอง
http://www.admincourt.go.th/news_01_detail.aspx?News_data_Index=+4404+